รู้เท่าทัน “โรคกระดูกพรุน” มฤตยูเงียบที่อันตรายกว่าที่คิด

โรคกระดูกพรุน เกิดจาก อาการ สาเหตุ วิธีรักษา ผู้สูงอายุ

เพราะสาเหตุของโรคกระดูกพรุนอาจเกิดจากร่างกายการขาดแคลเซียม ดังนั้น เมื่อเราได้เรียนรู้จากในตำรามาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ว่าแคลเซียมนั้นดีต่อกระดูก และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุนในยามที่เราแก่ตัวลง เราจึงควรรู้ว่าต้องบริโภคแคลเซียมในปริมาณเท่าไร ร่างกายถึงจะนำไปใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด

โรคกระดูกพรุน หรือ Osteoporosis คือภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อมวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ร่างกายจะสามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ทัน จึงเป็นเหตุให้กระดูกเกิดการเปราะและแตกหักได้ง่าย โดยผู้ป่วยกว่าร้อยละ 80 ไม่รู้ตัวว่าตนเองนั้นมีภาวะกระดูกพรุน เนื่องจากไม่มีอาการ หรือสัญญาณเตือนใดๆ ให้ทราบมาก่อน จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุล้มและกระดูกหัก จึงได้รู้ว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ด้วยเหตุนี้ โรคกระดูกพรุนจึงถือเป็นมฤตยูเงียบที่ส่งผลร้ายทำลายคุณภาพชีวิตผู้ป่วยอย่างมาก

ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าในคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติการณ์ของกระดูกหักในหลายๆ ตำแหน่งของร่างกาย เช่น กระดูกข้อมือ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และ กระดูกเชิงกราน ฯลฯ โดยจากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีผู้ป่วยกระดูกสันหลังหักมากถึงปีละประมาณห้าแสนราย โดยพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 10 เท่า และพบว่า 50% ของผู้หญิงชาวอเมริกันที่มีผิวขาวและมีอายุมากกว่า 70 ปี มีหรือเคยมีกระดูกสันหลังหักอย่างน้อยหนึ่งข้อ

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลที่น่าตกใจที่แสดงให้เห็นว่า อัตราการเกิดอุบัติการณ์ กระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนของคนทั่วโลกนั้น เกิดขึ้นทุกๆ 3 วินาที ซึ่งมีค่ารักษาพยาบาลคิดเป็นเงินไทยกว่า 120,000 บาท!!! อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการเกิดกระดูกหักเนื่องจากภาวะกระดูกพรุนจะเกิดขึ้นในคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเกิดขึ้น 1 ใน 3 ของเพศหญิง และ 1 ใน 5 ของเพศชาย

แต่ท่านรู้หรือไม่ว่า วิธีการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก คือปัจจัยสำคัญที่สามารถบ่งชี้การเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อคุณแก่ตัวลงได้เป็นอย่างดี

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การปรับพฤติกรรมประจำวัน ตลอดจนเรื่องของอาหารการกิน ถือเป็นวัคซีนป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ดีที่สุด โดยต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็กด้วยการรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสู่ง เช่น ผักใบเขียว อย่างบร็อกโคลี ผักคะน้า นมและผลิตภัณฑ์ของนม ปลาตัวเล็กๆ พร้อมกระดูก ปลาซาร์ดีนพร้อมกระดูก เต้าหู้แข็ง กุ้งแห้ง กะปิ งาดำ ฯลฯ

การออกไปรับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะร่างกายของเราจะสังเคราะห์วิตามิน D จากแสงแดด วิตามิน D มีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เสริมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักผ่านกระดูก เช่น การเดินเร็ว วิ่ง เต้นรำ ฯลฯ จะยิ่งช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้แข็งแรง

อย่างไรก็ตามสำหรับคนวัยทำงาน พบว่า ผู้ที่นั่งมากกว่า 9 ชั่วโมง/วัน มีความเสี่ยงที่กระดูกสะโพกจะหักมากกว่าผู้ที่นั่งน้อยกว่าวันละ 6 ชั่วโมง ถึง 50% เพราะฉะนั้น ควรเปลี่ยนอิริยาบถให้ได้ทุกๆ ชั่วโมง ด้วยการลุกขึ้นยืน หรือเดิน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากการปรับพฤติกรรมระหว่างวันและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การจะเลือกรับประทานอาหารให้ได้รับปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอในแต่ละวัน คงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงแสงแดดหรือการใช้ครีมกันแดดก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ร่างกายของเราได้รับวิตามิน D ไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ การรับประทานแคลเซียมเสริมที่มีวิตามิน D และแร่ธาตุที่สำคัญสำหรับกระดูก เช่น มังกานีส, แมกนีเซียม, ทองแดง และ สังกะสี จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้กระดูกแข็งแรงและเสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อ ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขอขอบคุณข้อมูล :
มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย
กลุ่มศึกษาวิจัยโรคกระดูกพรุน คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
www.caltratethailand.com

ภาพ : https://blog.gomedii.com/diseases-prevention/what-is-osteoporosis-symptoms-causes/
เรียบเรียง : สารสกัดงาดำ เอมมูร่า เซซามิน